วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สรรพคุณของมะกรูด

Leech Lime, Kaffir LimeCitrus hystrix D.C. วงศ์ Rutaceae
ชื่อท้องถิ่น มะขูด มะขุน ส้มกรูด ส้มมั่วผี
ลักษณะ มะกรูดเป็นพืชที่ใช้เป็นเครื่องเทศมานานแล้ว โดยใช้ผิวของผลเป็นส่วนผสมในเครื่องแกงหลายชนิด ใช้เข้าเครื่องหอมโดยเป็นส่วนผสมในเทียนอบ ใบมะกรูดมีกลิ่นหอมใช้แต่งกลิ่นในอาหารคาวหลายชนิดเช่น ต้มยำ แกงเผ็ด น้ำมะกรูดใช้ปรุงอาหารเพื่อให้มีรสเปรี้ยวและดับกลิ่นคาวปลาคนโบราณนิยมสระผมด้วยน้ำมะกรูด เพราะช่วยให้ผมดำเป็นมันไม่แห้งกรอบ คนไทยนิยมปลูกมะกรูดไว้ตามบ้านและในสวน มะกรูดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก ใบมีกลิ่นหอม ผลค่อนข้างกลม ผิวขรุขระมีปุ่มนูนและมีจุกที่หัวของผล ส่วนที่ใช้ คือ ใบและผล
สารสำคัญ ในใบและผลมะกรูด เมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำจะให้น้ำมันหอมระเหยในปริมาณ 0.08 % และ4 % ตามลำดับ น้ำมันหอมระเหยจากผิวมะกรูดมักประกอบด้วยเบต้า-ไพนีน, ไลโมนีนและซาบินีน เป็นสารหลักส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบจะประกอบด้วย ซีโทรเนลลาล, ไอโซพูลิโกลและไลนาลูออล เป็นสารหลัก ส่วนในน้ำมะกรูดมีกรดซิตริก ไวตามินซีและกรดอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

วิทยาศาสตร์ได้เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2525 โดย มติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2525 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอันเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" เพราะทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ได้อย่างแม่นยำ
วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี ได้มีการจัดงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักในการจัดร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและเอกชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 งานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้รับการขยายให้เป็นงานใหญ่ขึ้น เป็นงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยจะมีการจัดงานในระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม
พระราชกรณียกิจทางด้านดาราศาสตร์ของรัชกาลที่ 8
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้สร้างหอดูดาวบนเขาวัง ในจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๓ พระราชทานนามว่า "หอชัชวาลเวียงชัย" ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ได้เคยทอดพระเนตรดาวหาง 3 ดวงคือ
ดาวหางฟลูเกอร์กูส (Flaugergues s Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่และมีหาง 2 หาง ปรากฏในรัชสมัย พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. 2355 ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกฏมีพระชันษาราว 8 ปี เมื่อทรงเห็นแล้ว คงจะทรงติดตามศึกษาเรื่องดาวหางอยู่เสมอ เพราะว่าก่อนดวงที่ 2 จะมาปรากฏ พระองค์สามารถทรงนิพนธ์ประกาศฉบับแรกชื่อว่า " ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก" แจ้งแก่ประชาชน"
ดาวหางโดนาติ ( Donati a Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่มาก นักดาราศาสตร์อิตาเลียนค้นพบในคืนวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ 2401 และคืนต่อๆมา จนถึงวันที่ 4มีนาคม พ.ศ. 2402 (รวมเวลา ๙ เดือน) ชาวไทยคงจะเห็นด้วยตาเปล่า ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ. 2401 ดาวหางดังกล่าวมีลักษณะเป็น 2 หาง หางหนึ่งเหยียดตรง อีกหางหนึ่งเป็นพู่โค้งสวยงามอยู่ราว 2 เดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่า เมื่อประชาชนเห็นดาวหางโดนาติ แล้วจะตื่นเต้นไปตามคำลือต่างๆ จึงทรงออกประกาศเตือนชื่อว่า "ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก" นับเป็นประกาศทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกของประเทศ มีความว่า "ดาวหางนี้ชาวยุโรปได้เห็นมาแล้วหลายเดือน ดาวหางนี้มีคติแลทางยาวไปในท้องฟ้า แล้วก็กลับมาได้เห็นในประเทศทั้งนี้อีก เพราะเหตุนี้อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกัน และคิดวิตกเล่าลือไปต่างๆ ด้วยว่ามิใช่จะเห็นแต่ในพระนครนี้ และเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นหามิ ได้ย่อมได้เห็นทุกบ้านทุกเมืองทั่วพิภพอย่างนี้แล"
ดาวหางเทพบุท (Tebbut s Comet ) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่ หางยาว และสว่างกว่าดาวหางโดนาติ ปรากฏแก่สายตาชาวโลก ระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม พ.ศ. 2404 เป็นดาวที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยมากยิ่งขึ้น ถึงกับทรงได้คำนวณไว้ล่วงหน้าว่า จะปรากฏเมื่อใด และได้ทรงออกประกาศไว้ล่วงหน้า มิให้ประชาชนตื่นตระหนก ทั้งนี้เพราะพระองค์ มีพระราชประสงค์มุ่งขจัดความเชื่อ เกี่ยวกับเรื่องโชคลาง และทรงให้ราษฎรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ (ถ้าจะเกิด) อย่างมีเหตุผลตามแบบวิทยาศาสตร์
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็น"พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"
เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ
เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจและโอกาสแก่นักวิจัย นักประดิษฐ์ ได้แสดงผลงานต่อสาธารณชน
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าภาครัฐและเอกชนในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นวิถีทางหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้มีการจัดกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากมาย เช่น นิทรรศการ ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอภิปรายทางวิชาการ การตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ การประกวดการแข่งขันต่าง ๆ เช่น โครงการทางวิทยาศาสตร์และสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้มีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยจะทำพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติในวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี
การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ นับได้ว่ามีส่วนที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนคนไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย

บนเนื้อที่ 12 ไร่ ของพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม คือสถานที่จัดแสดง หุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสที่งดงาม สะท้อนความรู้สึกถึงสีหน้า ท่าทาง และอารมณ์เหมือนจริง โดยกลุ่มศิลปินไทย เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างหุ่น ตามแบบของมาดามทรูโซ่ ประเทศอังกฤษ เพื่อส่งเสริม เผยแพร่ และอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของไทย
นายดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ ผู้ปั้นหุ่น ได้ค้นพบการนำไฟเบอร์กลาส มารังสรรค์เป็นรูปหุ่นขี้ผึ้ง แทนการใช้ขี้ผึ้ง เนื่องจากเมืองไทยมีสภาพอาอากศร้อน ขี้ผึ้งละลายได้ง่าย หากใช้ไฟเบอร์กลาส มีความเหมาะสม คงทน และให้ความรุ้สึกนุ่มนวลสวยงามมากกว่า โดยปั้นหุ่นไฟเบอร์กลาสรูปแรก คือ พระราชสังวราภิมณฑ์ หรือ หลวงปู่โต๊ะ หลังจากนั้นได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทยขึ้น และได้สร้างหุ่นอีกหลายชุด เปิดให้เข้าชมเมื่อ พ.ศ. 2533
ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ทั้ง2 ชั้นจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสเป็นหลายหมวดหมู่ ได้แก่ หุ่นสนใจในข่าว หุ่นชุดพระอิรยสงฆ์ ซึ่งเป็นรูปเหมือนของพระสงฆ์ชื่อดัง ทั่วประเทศไทย เช่น หลวงพ่อเกษม เขมโก แห่งสุสานไตรลักษ์ จังหวัดลำปาง พระครูภาวนารังสี พระโพธิญาณเถระหรือหลวงปู่ชา สุภทฺโท พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนา พระธรรมญาณมุนี หลวงจีนคณาณัติจีนพรต สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พฺรหฺมรํสี หลวงปู่ศุข แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงปู่ทวด หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา เป็นต้น
ถัดมา หุ่นชุดเหนื่อยนักพักก่อน เป็นหุ่นชายอ้วนผอม ที่หยุดนั่งพักจนหลับไป ตรงกันข้ามคือ หุ่นชุดหมากรุกไทย ชายสองคนกำลังเดินหมากรุก ชิงไหวชิงพริบกันอย่างสนุก ขณะที่อีกคนยืนจับตาดูอยู่ข้างๆ ห้องสุดท้ายคือ ท้องพระโรงโอ่โถง กลางห้องมีพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 – 8 และหุ่นรูปสมเด็จย่า ฝาผนังเขียนเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน
จากนั้นขึ้นไปชั้น 2 จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย การละเล่น บุคคลสำคัญ และวรรณคดีไทย เริ่มต้นจากหุ่น 3 ครูเพลงไทย ได้แก่ ครูจวงจันทน์ จันทร์คณา หรือบรมครูพรานบูรพ์ ครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือสุนทราภรณ์ และครูไพบูลย์ บุตรขัน หรือราชานักแต่งเพลงลูกทุ่ง ใกล้กันคือหุ่น 3 บุคคลสำคัญของโลก ได้แก่ มหาตมา คานธี บิดาแห่งประชาชาติอินเดีย ติดกันคือ เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล วีรบุรุษของชาวอังกฤษ ตรงกันข้ามคือ อับราฮีม ลินคอร์น ผู้ปลดปล่อยทาสของสหรัฐอเมริกา
ห้องถัดไป คือ หุ่นชุดการละเล่นของเด็กไทย เข่น แมงมุม จ้ำจี้ รีรีข้าวสาร ขี่ม้าส่งเมือง และหัวล้านชนกัน หุ่นชุดวรรณคดีไทย เรื่องพระอภัยมณี ประกอบด้วย นางเงือก ผีเสื้อสมุทร สุดสาคร ม้านิลมังกร ชีปะขาว พระอภัยมณี และสุนทรภู่ ออกจากตรงนี้ไปห้อง หุ่นชุดประวัติศาสตร์ไทย ทั้งการเลิกทาส วิถีชีวิตคนไทยสมัยก่อน บ่อนเบี้ย เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ตั้งอยู่ถนนปิ่นเกล้านครชัยศรี กิโลเมตร 31 ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันมีหุ่นไฟเบอร์กลาสทั้งหมด 120 รูป เปิดเข้าชมทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 - 17.30 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 – 18.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 10 บาท พระภิกษุ สามเณร แม่ชี นักบวช นักศึกษาในเครื่องแบบ 20 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 034 332 607 และ 034 332 109
การเดินทางไปเที่ยว พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
รถยนต์ส่วนตัว จากสะพานปิ่นเกล้า ใช้เส้นทางถนน ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ผ่านชุมทางต่างระดับพุทธมณฑล ตรงไปข้ามสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรีอีกราว 3 กิโลเมตร จะเห็นทางเข้าพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทยทางขวามือ
รถประจำทาง นั่งรถสายกรุงเทพฯ - นครปฐม (สายใหม่) ที่สายใต้ใหม่ ลงหน้าพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
รถตู้ข้างโลตัสปิ่นเกล้า สาย กรุงเทพฯ - นครปฐม ลงหน้าพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย