วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ว่านกิมเจ็ง


ว่าน กิมเจ็ง
กิมเจ็ง ยาดีมีหัวขาย

คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก “กิมเจ็ง” น้อยมาก แต่ถ้าเป็นชาวจีน หรือชาวไทยเชื้อสายจีนรุ่นเก่าๆ จะคุ้นเคยและรู้จัก “กิมเจ็ง” เป็นอย่างดี เนื่องจากหัวของ “กิมเจ็ง” มีคุณค่าและมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังชั้นดี โดย ชาวจีนนิยมเอาหัวแบบสดๆของ “กิมเจ็ง” กะจำนวนพอประมาณต้มกับหมูเนื้อแดง หรือกระดูกหมูจำนวนเล็กน้อย ปรุงแต่งรสชาติอ่อนๆ คล้ายน้ำชุปใสรับประทานได้ทั้งเนื้อและน้ำวันละครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วย จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง หายอ่อนเพลีย เป็นยาโป๊ดีนัก

ส่วน ตำรายาแผนไทยเรียก “กิมเจ็ง” ว่า “ว่านกิมเจ็ง” หรือ “ต้นอีนูน” มี สรรพคุณทางเภสัชใช้เป็นยาเย็น แก้ร้อนในกระหายน้ำ และเจ็บในลำคอ โดยเอาหัวสดกะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำสะอาดจำนวน 3 แก้ว จนเดือดเคี่ยวเหลือ 1 แก้ว ดื่มขณะอุ่นวันละครั้ง ต้มกิน 1-2 วัน อาการที่กล่าวข้างต้นจะดีขึ้นและหายได้

กิมเจ็ง เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น มีหัวใต้ดินขนาดใหญ่ เนื้อหัวฉ่ำน้ำเล็กน้อยสีขาวนวล มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ลักษณะหัวคล้ายมันแกว หรือหัวของต้น “สบู่เลือด” ผิวหัวด้านนอกจะนวลกว่าเล็กน้อย ต้นหรือเถาสามารถเลื้อยได้ไกลกว่า 10 เมตร ที่พบตามธรรมชาติในป่าลึก ต้นหรือเถาจะอ้วนใหญ่มาก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปกลมรี คล้ายใบตำลึง แต่ใบของ “กิมเจ็ง” จะมีจำนวนแฉกมากกว่า และใบที่อยู่ส่วนปลายจะยาวและแหลมกว่าชัดเจน

ดอก ออกเป็นช่อหรือเป็นพวงตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กสีขาวจำนวนมาก เวลามีดอกจะห้อยลงเป็นระย้าน่าชมมาก “ผล” เป็นรูปทรงกลม มีหลายขนาดตั้งแต่เล็กจิ๋วไปจนถึงผลโตเท่าไข่ไก่ ดอกออกได้เรื่อยๆ ขยายพันธุ์ด้วยหัว หรือเมล็ด พบขึ้นตามป่าธรรมชาติทุกภาคของประเทศไทย สมัยก่อนนิยมปลูกติดรั้วบ้านให้ต้นหรือเถาไต่ เพื่อเอาหัวใช้ทำยาตามที่กล่าวข้างต้น

ปัจจุบัน นักเลงไม้หัวชอบเอา “กิมเจ็ง” ไปปลูกเป็นไม้ประดับโชว์ความงามและแปลกของหัวที่มีขนาดใหญ่ โดยปลูกลงกระถางทำโครงให้ต้นหรือเถาไต่ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ซึ่ง “กิม-เจ็ง” มีหัวขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 3 แผง “เจ๊ติ๋ม”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น