วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

โรคอ้วนอาจเกี่ยวกับการนอนน้อย

ผลการ วิเคราะห์รายงานการศึกษาหลายชิ้นพบว่า การที่เด็กและวัยรุ่นมีแนวโน้มนอนดึกและนอนน้อยกันมากขึ้น อาจมีส่วนทำให้เป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ชาฮัด ทาเฮรี นักวิจัยของมหาวิทยาลัยบริสทอลในอังกฤษ เขียนบทความลงในวารสารอาร์ไควฟ์ส ออฟ ดีซิส อิน ไชลด์ฮูด ว่า ไม่ควรให้ห้องนอนของเด็กมีโทรทัศน์ เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะทำให้เด็กนอนดึกและนอนน้อย เพราะมีงานวิจัยมากขึ้นว่าการนอนน้อยทำให้กระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วน เกิดภาวะดื้ออินซูลิน เบาหวาน และโรคหัวใจ ทาเฮรีอ้างผลการศึกษาในอังกฤษที่มีการเผยแพร่เมื่อปีก่อนว่า ทารกอายุ 30 เดือนที่นอนไม่พอจะเสี่ยงเป็นโรคอ้วนเมื่ออายุไม่เกิน 7 ปี จึงเป็นไปได้ว่าการนอนไม่พออาจมีผลต่อกลไกในร่างกายที่ควบคุมความอยากทาน อาหารและการใช้พลังงาน การนอนไม่พอยังเป็นปัญหาของวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่ร่างกายต้องการนอนมากขึ้น ในช่วงที่กำลังพัฒนาเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

ผลการวิจัยของทาเฮรีเองที่เผยแพร่เมื่อปี 2547 พบว่า ผู้ใหญ่ที่นอนวันละ 5 ชั่วโมงมักมีฮอร์โมนเกรลินที่กระเพาะอาหารผลิตเพื่อส่งสัญญาณความหิว มากกว่าคนที่นอนวันละ 8 ชั่วโมง ราวร้อยละ 15 และมีฮอร์โมนเลปตินที่เนื้อเยื่อไขมันผลิตเมื่อระดับพลังงานในร่างกายมีน้อย น้อยกว่าคนที่นอนวันละ 8 ชั่วโมงราวร้อยละ 15 นอกจากนี้เด็กที่รู้สึกเพลียเพราะนอนน้อยยังไม่ค่อยออกกำลังกายอีกด้วย

นักวิจัยสรุปว่า ลำพังการนอนอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบที่จะแก้ปัญหาโรคอ้วนระบาด แต่ควรศึกษาถึงผลจากการนอน เพราะการเปลี่ยนแปลงสมดุลด้านพลังงานเพียงเล็กน้อยก็มีประโยชน์ในเรื่องนี้ พร้อมกับแนะนำว่า เด็กควรเข้านอนและตื่นนอนอย่างเป็นเวลา เลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนนอน อากาศในห้องนอนไม่ร้อนหรือเย็นเกินไปและค่อนข้างมืดเพื่อให้หลับสนิท ส่วนผู้ใหญ่ควรนอนในช่วงวันหยุดให้มากขึ้นกว่าวันธรรมดาไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เวลาในร่างกายผิดปกติไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น